หยุดแล้ว...ไม่เจ็บตัว

Last updated: 11 ก.ย. 2567  |  1614 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หยุดแล้ว...ไม่เจ็บตัว

หยุดแล้ว...ไม่เจ็บตัว

ขนาดเดินไปเดินมาเฉยๆ ยังชนกันปากแตกได้ นับประสาอะไรกับรถที่แล่นไปทั่ว โอกาสกระทบกันย่อมมีอยู่สูง
อย่าว่าแต่ขับรถเลยแม้กระทั่งจอดรถแวะกินข้าวต้มอยู่ข้างทาง พวกยังเซเข้ามาเสยจะเละไปทั้งแถบ

เรื่องของอุบัติเหตุแม้จะเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ให้เกิดขึ้นมิได้ แต่เราสามารทำให้โอกาสเกิดเรื่องมีน้อยลง
หรือลดอาการบาดเจ็บยามเป็นเรื่องให้เบาบางลงได้ สิ่งที่ควรจะสนใจเรียนรู้และฝึกฝนนั้น
ก็น่าจะเป็นเรื่องของการหยุดรถ ว่าควรกระทำประการใดรถจึงจะสามารถหยุดได้อย่างที่เราต้องการ
ซึ่งวิธีหยุดรถให้ดีนั่นไม่ได้หมายความว่าจะพึ่งพาเฉพาะประสิทธิภาพเบรคของรถกันเพียงอย่างเดียว
ยอมรับว่า รถสมัยนี้มีอุปกรณ์ไฮเทค ที่สามารถช่วยคนขับได้เยอะ ในเรื่องของการหยุดรถให้ปลอดภัย
ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรก ABS ป้องกันการล็อคของล้อ ระบบ BA ช่วยเพิ่มพลังในการเบรคแบบรวดเร็วกะทันหัน
หรือระบบ EBD ที่รู้ดีว่าจะต้องใช้แรงดันเบรคแต่ละล้อกี่มากน้อย
แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังต้องขึ้นอยู่กับเท้าที่เหยียบเบรคลงไปด้วย

เบรกแบบอัตโนมัติ
การขับรถที่ดีนั้นต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าเผลอเมื่อไหร่มักจะเป็นเรื่อง (เกือบทุกที) แต่ในความเป็นจริงนั้น
คงไม่สามารถตั้งสมาธิได้ตลอดเวลา บางคนก็ขับรถไปคิดไป เรื่องงาน ครอบครัว หรืออะไรต่อมิอะไร
บางคนก็มัวแต่พูดโทรศัพท์ และมีอีกเยอะที่มักสนใจวิวข้างทางมากกว่าเส้นทาง ก็เลยเกิดเป็น “ทีเผลอ” ขึ้นมา

ด้วยเหตุที่เราไม่สามารถมีสมาธิในการขับรถได้ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยเราก็ต้องป้องกันและแก้ไข
โดยการกระทำให้เป็นสัญชาตญาณในการแก้ไขเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นการหักหลบหรือเบรคก็ตาม
ซึ่งหากทำได้โดยสมองไม่ต้องสั่ง จะทำได้ดีและรวดเร็วกว่าผ่านการสั่งของสมองซะอีก
ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่คิดแล้วทำได้ ต้องมีประสบการณ์และผ่านการฝึกหัดทดลอง ซึ่งเล่นไม่ยากนัก
โดยการหาเส้นทางที่ปลอดภัยไม่มีรถ อาจจะเป็นถนนในหมู่บ้านจัดสรรที่รกร้าง ตรอก หรือซอยลึกที่ไม่ค่อยมี
ใครผ่าน ให้ขับรถด้วยความเร็วแค่ 50-60 กม./ชม. ก็พอ เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดที่ความเร็วประมาณนี้
แล้วหัดเบรคโดยการยกเท้าจากคันเร่งมาเหยียบเบรคให้เร็วและให้แรงที่สุดเท่าที่จะทำได้
ฟังเหมือนไม่ยากแต่ความจริงมันก็ไม่ง่ายนักต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเบรคได้รวดเร็ว ดั่งใจต้องการ


เหยียบลงไปอย่ากลัวเบรคเจ็บ
เชื่อหรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยกล้าลงเบรคกันแรงเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เค้าจึงต้องคิดค้นเจ้าระบบ BA หรือ
Brake Assist System ขึ้นมาให้ช่วยใช้งานกัน เนื่องจากโดยมากมักจะใช้เบรคกันเบาเกินไป โดยเฉพาะสมัยแรกที่
ระบบเบรค ABS เริ่มมีใช้กัน คนขายรถมักจะโฆษณาว่าช่วยให้รถหยุดได้ดีกว่ารถที่ไม่มีระบบเบรค ABS ใช้
ซึ่งก็จริงเหมือนกัน แต่มันหมายถึงการเบรคบนทางเปียกลื่นต่างหาก ถ้าเป็นการเบรคบนถนนแห้งแล้ว
รถที่มีระบบเบรก ABS นั้นจะใช้ระยะเวลาในการเบรคยาวกว่ารถที่ไม่มีระบบเบรค ABS ใช้
เนื่องจากการเบรคของ ABS จะไม่จับจานเบรคแน่นตลอดเวลา แต่จะจับและคลายตัวปล่อยจานเบรคเป็นจังหวะ
เพื่อให้ล้อยังหมุนไปจับกับพื้นถนนลดการล็อคของล้อ จึงช่วยให้มีการทรงตัวที่ดีขณะเบรค
และสามารถควบคุมทิศทางได้ ด้วยเหตุนี้พวกรถที่มีABS จึงไม่ได้หมายความว่า
การเบรคบนทางแห้งจะได้ระยะเบรคสั้นกว่าพวกรถที่ใช้ระบบเบรคแบบธรรมดา

ดังนั้น ในบทเรียนการขับรถปลอดภัยของบริษัทรถทุกแห่งหรือในหลักสูตรการขับปลอดภัย
จะมีบทเรียนการเบรคของรถที่ใช้ระบบเบรค ABS ด้วย โดยการสอนให้เบรคอย่างรวดเร็วและรุนแรง
การเบรคบนทางที่มีผิวถนนต่างกัน ระหว่างล้อซ้ายกับล้อขวา เช่น ล้อด้านซ้ายอยู่บนทางเปียกหรือลื่น
แต่ล้อฝั่งขวาอยู่บนทางปกติ และการเบรคบนทางลื่น รวมถึงการหักหลบ พร้อมกับการเบรค
เพื่อให้คนขับได้สัมผัสกับการลงเบรคกันอย่างหนักหน่วงกว่าที่คิด และให้รับทราบถึงผลการเบรคว่า
เป็นประการใด จะได้รู้วิธีและพร้อมที่จะใช้งาน

สำหรับรถรุ่นเก่าที่ยังไม่มีระบบเบรค ABS ใช้ จะมีปัญหาอยู่บ้างเรื่องการสึกของยาง
หากมีการใช้เบรคอย่างหนักหน่วงจนกระทั่งล้อล็อค แต่ก็ยังอยากให้สัมผัสกัน หากเล่นกันไม่กี่ครั้ง ยางคงไม่สึก
หรอจนเสียรูป โดยการหาทางที่กว้างขวางและโล่งพอ หากเกิดอะไรขึ้นจะได้ไม่เป็นอันตราย
ต่อจากนั่นให้ลองเบรคกันที่ความเร็ว 60 กม./ชม.โดยการเหยียบเบรคให้เร็วและแรงที่สุด
จนกระทั่งล้อเกิดการล็อคเริ่มมีอาการลื่นไถล ให้รีบถอนเท้าออกจากเบรคแล้วกดซ้ำ
ส่วนพวกรถที่เป็นเกียร์ธรรมดา ให้หัดเหยียบเบรคนิ่งแล้วจึงค่อยเหยียบคลัทซ์
เพื่อจะได้ใช้เอนจิ้นเบรคมาช่วยการหน่วงความเร็วของรถ และด้วยความเร็วระดับนี้หากใช้รถเกียร์ธรรมดา
ลองเบรคที่เกียร์ 3 เกียร์ 4 กับเกียร์ 5 (รถ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ) จะพบว่าระยะเบรคในเกียร์ 3 จะสั้นกว่า เกียร์ 4
และเกียร์ 5 ตามลำดับ เพราะในจังหวะเกียร์ 3 จะมีเอนจิ้นเบรคมากกว่าและที่เกียร์ 4 ก็มีเอนจิ้นเบรคมากกว่าเกียร์
5 ซึ่งจะได้นำการเชนจ์เกียร์ไปช่วยในการใช้งานจริงเพื่อให้ได้ระยะเบรคสั้นลง


รู้จักหน้ารู้จักใจ
ควรจะพยายามทำความเข้าใจลักษณะการทำงานของเบรคให้ดี รถแต่ละรุ่นแต่ละแบบจะมีการทำงานของเบรค
แตกต่างกันอยู่บ้าง อย่างพวกรถรุ่นเก่าที่ยังไม่มี ABS ใช้ หรือพวกที่ใช้ระบบเบรคแบบหน้าดิสค์หลังดรัม
จะพบว่าเมื่อเหยียบเบรคแล้วในจังหวะแรกตัวรถยังไม่ลดความเร็วลง ต้องเหยียบเบรคให้ลึกลงไปอีกนิด
คราวนี้ผ้าเบรคถึงจะจับตัวชะลอความเร็วของรถลงมา และเมื่อเหยียบเบรคให้ลึกลงไปอีก การทำงานของเบรค
จะเพิ่มเป็นทวีคูณ ในรูปแบบนี้เปอร์เซ็นต์ล้อล็อคมีอยู่สูง ต้องระมัดระวังเรื่องรถลื่นไถลเสียการทรงตัวให้ดี
โดยเฉพาะยามเบรคแบบกะทันหัน หรือเบรคอยู่บนทางเปียกลื่น

ในอีกลักษณะหนึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกรถรุ่นใหม่ที่มีระบบ ABS ใช้แล้ว
และมักจะเป็นพวกรถที่ใช้ระบบดิสค์เบรคทั้ง 4 ล้อ การเหยียบเบรคจะเริ่มมีประสิทธิภาพสูง ตั้งแต่ต้นเลย
พอแตะเบรคลงไปก็รู้สึกได้เลยว่าเบรคเริ่มทำงานแล้ว ในลักษณะเช่นนี้การเบรคเพื่อชะลอความเร็วของรถ
จะทำได้ดี ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถ้าเราเพิ่มกำลังในการเหยียบเบรคอีกหน่อยรถต้องหยุดแน่นอน
อันเป็นการเปรียบเทียบกับความรู้สึกที่สัมผัสได้จากประสิทธิภาพในการทำงานของเบรค
จนกระทั่งเกิดมีเหตุด่วนเหตุร้ายทำให้ต้องใช้เบรคเพื่อหยุดรถขึ้นมา ปรากฏว่าเมื่อใช้แรงในการเหยียบเบรคตาม
ที่คิดเอาไว้ กลับไม่สามารถ หยุดรถได้ตามต้องการ เพราะลักษณะการทำงานของเบรคแบบนี้
ช่วงเหยียบเบรคเพื่อชะลอรถมักจะทำตัวดี แต่ถ้าจะเบรคเพื่อหยุดค่อนข้างลำบาก
ต้องใช้แรงกดคันเหยียบเบรคมากกว่าที่คิดเยอะเลย ซึ่งกว่าจะรู้มักจะ “ตูม” ซะก่อน


ทำตัวพร้อมที่จะหยุดทุกเวลา
เราสามารถแบ่งลักษณะการขับรถได้ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การขับขี่ในเมือง และการเดินทางออกต่างจังหวัด
ซึ่งในการขับรถอยู่ในเมืองนั้น จะว่าไปโอกาสรถสะกิดกันมีมากกว่าตอนเดินทางซะอีก
เพียงแต่ว่ามันไม่รุนแรงเท่านั้นเอง ตัวก่อเรื่องหลักก็มีพวกรถแท็กซี่ที่พร้อมจะแว็บเข้ารับผู้โดยสาร
โดยไม่สนใจว่าจะต้องตัดเลนจากขวาสุดมาซ้ายสุด รถมอเตอร์ไซด์ที่พร้อมจะแซงซ้ายเมื่อเราเปิดไฟเลี้ยวซ้าย
และชอบแซงขวา อีตอนเราเปิดไฟเลี้ยวขวา รถเมล์ใหญ่ รถเมล์เล็ก กับรถตู้โดยสาร ที่พร้อมจะออกจากป้ายทันที
ที่ต้องการ โดยไม่สนใจรถที่อยู่เลนขวา โปรดหลบเอาเองถ้าไม่อยากโดนโซ้ย

จุดอันตรายที่ควรระมัดระวังให้มาก จะมีอยู่ 2 อย่างประการแรกเป็นช่วงขึ้นสะพานหรือเนินที่ไม่เห็นฝั่งตรงข้าม
เส้นทางโล่งกดกันได้สบาย แต่ที่ไหนได้พอพ้นเนินขึ้นมาก็เจอรถจอดติดเป็นทิวแถว ทำให้ต้องตาลีหรือตาเหลือก
กดเบรคกันแต่มักจะไม่ทันซะแล้ว หรือหากเราเบรคทันก็มักจะโดนรถที่ตามหลังมาอัดเอา ดังนั้นถ้าเจอสะพาน
หรือเนินที่ไม่เห็นสภาพฝั่งตรงข้ามควรจะชะลอความเร็วลงนิด โดยการเหยียบเบรคเบาๆ แช่เอาไว้
เพื่อให้รถที่ตามหลังเห็นไฟเบรกจะได้ลดความเร็วลงมั่ง รวมทั้งมองเลนข้างๆ ว่าว่างหรือเปล่า
เผื่อต้องใช้พื้นที่ในการหักหลบ พยายามประพฤติให้เป็นนิสัย จนกระทั่งทำได้เป็นอัตโนมัติทุกครั้งโดยไม่ต้องสั่ง

ช่วงการลงสะพานและลงเนินเป็นจุดอันตรายอีกแห่งหนึ่ง ด้วยแรงรถผสมกับแรงดึงดูดของโลกทำกินแรงเบรค
มากกว่าปกติ เวลาเป็นเรื่องมักจะเบรคไม่ค่อยทัน ต้องระมัดระวังให้ดี
และหากมีเรื่องให้ใช้เบรคต้องเผื่อโดยการเบรคให้หนักกว่าธรรมดา

การขับรถยามท่องเที่ยวเดินทาง นอกจากภัยที่เกิดขี้นจากตัวเอง เช่น “เมาแล้วขับ” หรือ “ง่วงแล้วขับ”
ก็ยังมีปัญหาในด้านการขับขี่ยิ่งเดินทางยาวใช้เวลาเยอะโอกาสพลาดยิ่งสูง ตอนแรกอาจจะตั้งอกตั้งใจขับ
แต่พอนานไปก็ชักจะไร้สมาธิ ดังนั้นต้องพยายามเตือนตัวเองให้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ
แล้วยังต้องเรียนรู้ช่องทางที่จะเพิ่มความปลอดภัย ตลอดจนการระมัดระวังจุดอันตรายเป็นพิเศษ

สิ่งที่พูดกันมากในการขับรถด้วยความเร็วและวิ่งทางยาว อยู่ที่ควรทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าเท่าไหร
บ้างก็ใช้สูตรเพิ่มระยะทุกความเร็วที่เพิ่มขึ้น 10 กม./ชม. ให้เพิ่มระยะห่างอีก 1 ช่วงคันรถ ซึ่งออกจะรวบรัดไปนิด
เพราะมีตัวแปรค่อนข้างเยอะ อย่างเช่น เส้นทางราบเรียบและโล่ง ซึ่งเรามองได้กว้างไกล
หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเรา มักเห็นได้ล่วงหน้า แม้รถคันข้างหน้าจะบดบังสายตาไปบางส่วนก็ตาม
แบบนี้จี้ติดเข้าไปหน่อยก็ได้ เพราะหากมีอะไรเราสามารถมองเห็นได้ก่อน
นอกจากนี้ประสิทธิภาพการทำงานของเบรคในรถแต่ละรุ่นก็ต่างกัน อย่างรถคันหน้าเป็นรถยุโรปราคาแพง
ใช้ดิสค์เบรคแบบมีช่องระบายความร้อนทั่งหน้าและหลังใช้แม่ปั๊ม 4 Pot ที่ล้อหน้า ส่วนล้อหลังใช้แบบ 2 Pot
แค่แตะเบรคเบาๆ ความเร็ว 160 กม./ชม. ยังใช้เวลาหยุดไม่กี่สิบเมตร ต่างกับรถคันหลังเป็นรถญี่ปุ่นคันโตเครื่อง
ใหญ่ แต่ใช้เบรคอันนิดเดียว ด้านหน้าใช้แม่ปั๊ม Pot เดียว ส่วนด้านหลังก็เป็นดรัมเบรค การเบรคนั้นวางใจลำบาก
จนกระทั่งเจ้าของรถจะติดร่มอยู่แล้ว คิดเอาเองว่าแบบนี้หากรถญี่ปุ่นขับตามหลัง ไปเทียบกับให้รถยุโรบอยู่หลัง
โดยขับด้วยความเร็วพอๆ กัน ทั้งสองกรณี ระยะทิ้งห่างควรจะเท่ากันหรือไม่
อีกทั้งยังเป็นเรื่องฝีมือคนขับว่ามือเท้าว่องไวขนาดไหน

ดังนั้นการทิ้งระยะห่างกับรถคันข้างหน้า จึงควรว่ากันตามสถานการณ์และความรู้สึก โดยถามตัวเองว่า
“ด้วยระยะห่างแค่นี้หากรถหน้ามีอะไรเกิดขึ้น เราสามารถหยุดทันหรือเปล่า”
ถ้าตอบว่าสบายก็ยังสามารถขยับเข้าไปใกล้กว่าเดิมได้อีก
แต่ถ้ารู้สึกเหงื่อแตกใจสั่นมีความเครียดในการขับตาม ก็ควรยืดระยะให้ห่างออกมา

ในการขัยรถท่องเที่ยวเดินทางควรใส่ใจกับจุดคับขันต่างๆ อย่างเช่น ถนนผ่านเขตหมู่บ้าน หรือมีชุมชนหนาแน่น
หากเป็นยามบ่ายใกล้เย็นก็ต้องระวังรถจักรยาน และเด็กนักเรียนที่เพิ่งเลิกเรียนกำลังเดินทางกลับบ้านให้ดี
และถ้าเป็นยามเย็นใกล้มืด ก็ต้องระวังพวกรถอีแต๋น หรือพวกรถมอเตอร์ไซด์โผล่พรวดออกมาจากข้างทาง
ต้องใช้ความเร็วที่แน่ใจว่าหากมีอะไรโผล่ขึ้นมาขวางทางบนถนน เราสามารถเบรครถหยุดได้ทัน


เบรคข้างหน้าแต่ให้ระวังข้างหลัง
บอกตรงๆ ว่าในการหยุดรถนั้น ทางด้านหน้าถือว่า “ไม่เท่าไหร่” หากเรามีการเตรียมตัว มีความรู้ มีประสบการณ์
มักจะสามารถเบรคได้ทันท่วงที แต่ที่มีปัญหาคือพวกรถที่ตามหลังเรามานั้น
เค้าสามารถเบรคทันตามเราไปด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่ยึดเอาบั้นท้ายรถเราเป็นที่เบรค
ด้วยเหตุนี้ในการเบรคหยุดรถที่ปลอดภัยนั้น ไม่ใช่ว่าจะมองเฉพาะด้านหน้าอย่างเดียว
แต่ต้องมองด้านหลังดูรถที่ตามด้วยว่าเค้าเบรคทันเหมือนเราหรือเปล่า หากพบว่าท่าทางจะรอดลำบาก
เราก็ควรขยับรถไปทางด้านให้มากที่สุดเป็นการเพิ่มระยะในการเบรคขึ้นมาอีกหน่อย
และหากเป็นไปได้ในการขับรถ ให้พยายามมองรถช่องทางด้านข้างเป็นระยะด้วย
เพราะหากคันหน้าหยุดรถแล้วเราเกิดเบรคไม่ทันขึ้นมา หรือหลังจากมองกระจกหลังดูการเบรครถแล้ว พบว่า
ท่าทางของรถคันหลังคงรอดยาก แล้วช่องทางด้านข้างที่เรามองไว้มันว่างพอจะแว่บหลบออกไปได้
ก็อย่าช้า ให้รีบเผ่นทันที


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้